โซลาร์ประชาชน 100MW ปลุกตลาด ผู้ผลิตตีปีกบ้านแห่ติดโซลาร์รูฟท็อป

วันที่ 17 March 2019 - 22:07 น.

ตลาดแผงโซลาร์เซลล์คึก รับลูก ก.พลังงานประกาศนำร่อง “โซลาร์ประชาชน” 100 MW ต.ค.นี้ “บี.กริม-เดลต้า” เชื่อกระตุ้นผู้บริโภคแห่ติดโซลาร์รูฟท็อปชี้ได้สองต่อ ทั้งประหยัดค่าไฟ-เพิ่มรายได้ ขายคืนการไฟฟ้าฯ ต้นทุนติดตั้งหลังละ 3-5 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจาก ดร.ศิริ จิรพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ เปิดตัวโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ปี 2018 (PDP 2018) ซึ่งกำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำโครงการทดลองโซลาร์ภาคประชาชน สำหรับภาคครัวเรือน ไม่เกิน 100 MW ภายในปี 2562 โดยกำหนดว่าประชาชนจะขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี ผู้ร่วมโครงการต้องเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทาง

ซึ่ง กกพ.จะจัดรับฟังความเห็นร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า 16 มี.ค.-1 เม.ย.นี้ จากนั้นการไฟฟ้าฯฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการในเดือน พ.ค.- ก.ค. 2562 รูปแบบ first come first serve พร้อมประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (COD) ให้เสร็จใน ต.ค.นี้

ดร.ศิริกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 3,449 MW (ข้อมูล ธ.ค. 2561) ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 MW จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 MW ตามแผน PDP 2015 ทำให้ยังเหลืออีก 2,750 MW ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 12,725 MW ในอีก 18 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และกฟผ.ในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW

ตลาดโซลาร์เซลล์คึก

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตโซลาร์ภาคประชาชนมีความชัดเจนส่งผลให้ประชาชนหันมาติดตั้งแผงโซลารูฟท็อปมากขึ้นแน่นอน เพราะได้ประโยชน์ 2 ส่วน คือ ประหยัดค่าไฟฟ้า จากเดิมซื้อไฟฟ้าจะผลิตและใช้ได้เอง นอกจากนี้ หลายบริษัทผู้ผลิตและขายแผงโซลาร์ยังมีโปรโมชั่นรับติดตั้งฟรี และให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าอีก ทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าฯ มีรายได้เสริมอีกหน่วยละ 1.68 บาท จากเดิมไม่มีเงื่อนไขตรงนี้ จึงเป็นโอกาสและทางเลือกของประชาชน

นอกจากนี้ การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งอุปกรณ์ เช่น ระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) ให้เติบโตตาม และสอดรับกับเทรนด์ทั่วโลกที่พัฒนาเทคโนโลยี ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาถูกลง จะเห็นว่าสัดส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองจะมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนต้องยอมรับว่าจะห้ามไม่ให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคงเป็นไปไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและต้องดูเรื่องระบบส่งด้วยว่าจะมีปัญหาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นโยบายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนี้ไม่ได้ดำเนินการเสรีทั้งหมด เพราะรัฐมีเงื่อนไขว่าจะใช้สำหรับเฮาส์โฮลด์ และอนุญาตให้เฉพาะที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเท่านั้น จึงมองว่าปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินที่จะขายคืนสู่ระบบน่าจะมีไม่มากนัก อาจไม่ถึง 100 MW ตามเป้า ด้วยข้อจำกัดในกระบวนการติดตั้งและปัจจัยต่าง ๆ ทั้งขนาด ความแข็งแรงของหลังคา

นางปรียนาถกล่าวว่า BGRIM จำหน่ายโซลาร์รูฟท็อปเช่นกัน โดยมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ 80 MW ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตเฉลี่ยต่อปีสูง แต่ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 5% จากภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 3,000 MW ส่วนใหญ่ 70% เป็นการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าคอนเวนชั่นนอล ที่เหลือเป็นพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ในประเทศ 140 MW และที่ลงทุนในเวียดนามอีก 677 MW ไม่นับที่มีไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อปยังเป็นสถานศึกษา โรงงาน โกดัง และห้างสรรพสินค้า เช่น ไอคอนสยาม เป็นหนึ่งในลูกค้าของบี.กริม ซึ่งมองว่าตลาดนี้ยังไม่ใช่ตลาดหลักของบี.กริม เพราะแข่งขันสูง

ต้นทุน 2-5 หมื่น บ./หลัง

รายข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า ตัวเลขการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เดือน ม.ค. 2562 มี 902,181 หน่วย ลดลงจาก ม.ค. 2561 ซึ่งนำเข้า 1,807,890 หน่วย มูลค่า 82.4 ล้าบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่า 57.03 ล้านบาท บริษัทที่นำเข้าชิ้นส่วน ประกอบด้วย บจก.เอ็นเอ็มบี-มินิแบ ไทย, บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย), บจก.ฟาบริเนท, บจก.โรม เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) และ บจก.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สาเหตุที่นำเข้าลดลง เนื่องจากมีการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

นายประพน ธัมสัตยา วิศวกรภาคสนามอาวุโส บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DELTA) กล่าวว่า บริษัทผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายโซลาร์อินเวอร์เตอร์ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าที่ใช้ควบคู่กับแผงโซลาร์เซลล์ โดยปีที่ผ่านนำเข้าเพิ่มจากฐานการผลิตในประเทศจีน เพราะตลาดขยายตัวดี แต่ช่วงต้นปีทุกบริษัทชะลอนำเข้าเพื่อรอดูความชัดเจนของแผนพีดีพี คาดว่าหลังรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตโซลาร์ภาคประชาชน จะเป็นแรงจูงใจให้ติดตั้งมากขึ้น เพราะประหยัดค่าไฟฟ้าจากที่ต้องซื้อ 3-4 บาทต่อหน่วยแล้ว ยังขายไฟฟ้าส่วนเกินเป็นรายได้ด้วย

สำหรับการผลิตและติดตั้งอุปกรณ์เฉลี่ยบ้านหนึ่งหลังจะติดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 กิโลวัตต์ มีค่าใช้จ่าย 30,000-50,000 บาท